1. ภาวะเลือดมีน้ำตาลมากคืออะไร ?
ระดับกลูโคสในเลือดคือปริมาณของกลูโคสที่อยู่ในเลือด เมื่อระดับกลูโคสในเลือดสูงเกิน 250 มก./ดล. จะเรียกว่าภาวะเลือดมีน้ำตาลมาก ระดับกลูโคสในเลือดที่สูงมากอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงซึ่งต้องได้รับการรักษาโดยทันที
หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะเลือดมีน้ำตาลมากอาจรุนแรงขึ้นและก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลฉุกเฉิน เช่น โคม่าจากโรคเบาหวาน
การมีกลูโคสในเลือดมากเกินไปเป็นระยะเวลานานสามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาท หลอดเลือด และอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ได้ ซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย ตาบอด บาดแผลเรื้อรัง และการต้องตัดขา
2. จะรู้ว่ามีภาวะเลือดมีน้ำตาลมากได้อย่างไร ?
อาการและอาการแสดงเมื่อกลูโคสในเลือดสูงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
คุณอาจรู้สึกหรือมีอาการดังต่อไปนี้หากคุณมีกลูโคสในเลือดสูง :
- กระหายน้ำตลอดเวลา
- ต้องปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
- ตามัว
- เหนื่อยมากตลอดเวลา
- ปากแห้ง
ในกรณีที่กลูโคสในเลือดสูงอย่างรุนแรง คุณอาจมีอาการ :
- คลื่นไส้
- ปวดท้อง
- หายใจผิดปกติ
- ลมหายใจกลิ่นคล้ายแอลกอฮอล์
บางครั้งภาวะเลือดมีน้ำตาลมากอาจรุนแรงมากจนทำให้เป็นลมหรือหมดสติได้ หากคุณมีอาการที่กล่าวมา ควรไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล/คลินิก
3. ภาวะเลือดมีน้ำตาลมากเกิดจากอะไรได้บ้าง ?
การจัดการกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 คือการสร้างสมดุลระหว่างสามสิ่ง เนื่องจากคุณจะต้องดูปริมาณอินซูลินที่ใช้ อาหารที่รับประทาน และการออกกำลังกาย
ทั้งสามสิ่งนี้ต้องสมดุลกัน หากมีอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่พอดี ก็อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติได้ โดยทั่วไปแล้วระดับกลูโคสในเลือดที่สูงกว่าปกติอาจเกิดได้จาก :
- การไม่ใช้อินซูลินเมื่อคุณจำเป็นต้องใช้หรือใช้ไม่ถูกขนาด
- อินซูลินหมดอายุหรือถูกเก็บผิดวิธี
- การไม่ทำตามแผนมื้ออาหาร (เช่น การรับประทานอาหารหรือของว่างบ่อยเกินไป)
- การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต/น้ำหวานมากเกินไป
- การออกกำลังกายน้อยกว่าปกติ
- การติดเชื้อ การเจ็บป่วย หรือการมีประจำเดือน
- อารมณ์ เช่น ความตื่นเต้นหรือความเครียด
- อาจเกิดชั่วคราวระหว่างหรือหลังการออกกำลังกายที่หนักเกินไป
- การใช้ยาชนิดอื่นที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาสำหรับโรคเบาหวาน
4. การตรวจระดับกลูโคสในเลือดสูง
ส่วนหนึ่งของแผนการจัดการโรคเบาหวานคือการตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดหลายครั้งต่อวันด้วยเครื่องวัดกลูโคส การทำเช่นนี้จะช่วยให้ทราบได้ว่าคุณมีระดับกลูโคสในเลือดสูงหรือไม่ ซึ่งอาจไม่ได้ทำให้เกิดอาการเสมอไป บางคนที่ไม่ได้ตรวจวัดอย่างสม่ำเสมออาจมีระดับกลูโคสในเลือดที่สูงจนก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายโดยที่ไม่รู้ตัวได้
หากคุณพบว่าตนเองมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่บ่อยครั้ง แพทย์หรือพยาบาลอาจเสนอให้เปลี่ยนขนาดของอินซูลินที่ใช้หรือเปลี่ยนแผนมื้ออาหาร เพื่อที่จะปรับระดับให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม
5. กลูโคสในเลือดสูง (ภาวะเลือดมีน้ำตาลมาก) รักษาอย่างไร ?
หากกลูโคสในเลือดของคุณสูงกว่า 250 มก./ดล. คุณต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
โดยคุณต้องทำตามขั้นตอนดังนี้ :
- ตรวจระดับกลูโคสในเลือดแล้วฉีดอินซูลินออกฤทธิ์สั้น
- ติดต่อแพทย์/พยาบาลของคุณเพื่อสอบถามว่าคุณควรได้รับอินซูลินเพิ่มปริมาณเท่าใดหรือหากคุณไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไรต่อไป
- ดื่มน้ำปริมาณมาก (อย่างน้อย 1 แก้วต่อชั่วโมง)
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก
- ตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดหลังผ่านไป 2 ชั่วโมง
หากระดับกลูโคสในเลือดยังคงสูงเกิน 250 มก./ดล. ให้ติดต่อแพทย์/พยาบาลของคุณทันที
หากระดับกลูโคสในเลือดของคุณสูงเกิน 400 มก./ดล. แสดงว่าคุณมีภาวะเลือดมีน้ำตาลมากรุนแรง ให้ฉีดอินซูลินออกฤทธิ์สั้นทันที (10% ของปริมาณอินซูลินต่อวัน) ติดต่อแพทย์/โรงพยาบาลทันที