1. ทำไมการวางแผนมื้ออาหารถึงสำคัญ ?
คุณไม่จำเป็นต้องคุมอาหารอย่างเคร่งครัด แต่ก็ต้องใส่ใจว่าจะรับประทานอาหารอะไรและปริมาณเท่าใด เหตุผลก็เพราะว่าคุณจะได้ควบคุมระดับกลูโคสในเลือดได้ดี การวางแผนมื้ออาหารจะช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานรับประทานอาหารที่เหมาะสมและดีต่อสุขภาพได้
คุณต้องรักษาสมดุลระหว่างปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่รับประทานกับปริมาณอินซูลินที่ใช้และการออกกำลังกาย เพื่อที่จะควบคุมระดับกลูโคสในเลือด การทำเช่นนี้จะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพระยะยาวบางอย่างของโรคเบาหวานได้
คุณต้องรู้ว่าในอาหารที่คุณเตรียมนั้นมีส่วนประกอบอะไรบ้าง การรู้ว่าอาหารชนิดใดมีคาร์โบไฮเดรตและรู้ว่าคาร์โบไฮเดรตในอาหารนั้นเป็นชนิดที่ดีหรือไม่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
คาร์โบไฮเดรตชนิดที่ดีสามารถพบได้ในอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป เช่น ผักใบเขียว แครอท มะเขือ คาร์โบไฮเดรตชนิดที่ไม่ดีสามารถพบได้ในอาหารแปรรูป เช่น ขนมหวาน เค้ก ขนมอบต่าง ๆ ช็อกโกแลต ลูกอม น้ำหวาน นอกจากนี้อาจต้องระวังอาหารและเครื่องดื่มริมทาง ซึ่งอาจมีการใส่นมข้นหวานหรือน้ำตาลมากเกินไป
หากเป็นไปได้ ควรอ่านฉลากอาหารเพื่อดูส่วนประกอบ ข้อมูลโภชนาการ และพลังงาน ก่อนที่จะซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ต
หากต้องการรับประทานอาหารจากร้านค้าริมทาง อย่าลังเลที่จะถามคนขายว่าอาหารมีส่วนประกอบอะไรบ้างและมีการเติมน้ำตาลหรือไม่
2. วิธีการวางแผนมื้ออาหารโดยการแบ่งจาน
ในแต่ละมื้อควรจัดให้มีความสมดุลระหว่างคาร์โบไฮเดรตและสารอาหารอื่น ๆ ทั้งเพื่อการควบคุมโรคเบาหวานและเพื่อให้มื้ออาหารน่ารับประทาน
คุณสามารถใช้วิธีแบ่งจาน โดยการทำตามขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้ :
– 1/2 ของจาน : ผักใบเขียวและผักที่ไม่มีแป้ง เช่น กะหล่ำปลี บรอกโคลี แคร์รอต แตงกวา ผักบุ้ง
– 1/4 ของจาน : คาร์โบไฮเดรต (ธัญพืชและผักที่มีแป้ง) เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังธัญพืช ข้าวโพด มันฝรั่ง เผือก
– 1/4 ของจาน : โปรตีน เช่น เนื้อไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่
อื่น ๆ : นม (ไขมันต่ำ) หนึ่งแก้วหรือผลไม้สด
การมีทัศนคติที่ดีต่ออาหารและการรับประทานอาหารอย่างมีความสุขเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เราก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับผลที่อาหารแต่ละชนิดมีต่อร่างกายด้วย อาหารก็เป็นเหมือนเพื่อนของเรา การเลือกอาหารที่ดีก็เหมือนกับการเลือกเพื่อนที่ดีที่จะช่วยให้เราเติบโตอย่างมีสุขภาพที่ดีได้
3. คำแนะนำการรับประทานอาหารสำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มีอะไรบ้าง ?
– อย่าอดอาหารและพยายามรับประทานอาหารเวลาเดียวกันทุกวัน
– รับประทานคาร์โบไฮเดรตในสัดส่วนที่สม่ำเสมอทุกวัน
– ดื่มน้ำเยอะ ๆ
– เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ข้าวกล้อง แทนข้าวขาวหรือข้าวเหนียว
– รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
– เลือกอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ (เช่น ผลไม้) หากต้องการรับประทาน
– ออกกำลังกายวันละ 30 นาทีทุกวัน
พยายามลด/หลีกเลี่ยง :
– น้ำหวาน ขนมขบเคี้ยว และขนมหวาน – สามารถรับประทานได้ในโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิดหรืองานเลี้ยงอื่น ๆ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ
– อาหารแปรรูป (เช่น เนื้อสัตว์บรรจุกระป๋อง ไส้กรอก)
– ลดปริมาณเกลือในอาหารของคุณ
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ :
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีคาร์โบไฮเดรด และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีผลต่อระดับกลูโคสในเลือดของคุณ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในระดับหนึ่งอาจทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้น แต่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยได้
คุณสามารถดื่มได้ในบางโอกาสแต่ต้องอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะและต้องรับประทานอาหารควบคู่ไปด้วย หมั่นตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดอย่างสม่ำเสมอและดื่มน้ำให้มากในวันถัดไป ระวังความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย และควรรักษาหากคุณมีอาการใด ๆ