1. การควบคุมโรคเบาหวานจะเป็นอย่างไรเมื่อคุณเจ็บป่วย ?
คุณอาจเจ็บป่วยได้ในบางเวลาเหมือนกับคนอื่น ๆ อย่างไรก็ตามเนื่องจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 สามารถส่งผลต่อร่างกายให้เพิ่มหรือลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติมเล็กน้อยเพื่อให้ควบคุมระดับกลูโคสในเลือดได้
ระดับกลูโคสในเลือดอาจคาดการณ์ได้ยากมากในวันที่คุณป่วย คุณไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่นอนว่าการเจ็บป่วยจะมีผลอย่างไรต่อการควบคุมโรคเบาหวาน เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดให้บ่อยกว่าปกติในวันที่ป่วย และปรับเปลี่ยนขนาดของอินซูลินตามความต้องการของร่างกาย
เมื่อคุณเจ็บป่วยเป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีไข้ก็ได้ ร่างกายของคุณจะต้องการพลังงานเพิ่มเติมเพื่อที่จะต่อต้านเชื้อโรค ซึ่งอาจมีผลต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลินที่คุณฉีดด้วย
หากเซลล์ในร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอ หรือหากร่างกายไม่ได้รับอินซูลินเพียงพอที่จะนำกลูโคสเข้าไปใช้ในเซลล์ ร่างกายของคุณจะสร้างพลังงานจากการสลายไขมันและกล้ามเนื้อแทน กระบวนการนี้จะก่อให้เกิดของเสียที่เรียกว่าคีโทน ซึ่งเป็นอันตรายเมื่อสะสมในปริมาณมาก
หากระดับกลูโคสในเลือดที่สูงไม่ได้รับการรักษา ร่างกายจะสร้างคีโทน และคุณอาจป่วยหนักจากภาวะกรดเกินจากคีโทนได้ โดยที่อาจไม่ได้มีการเจ็บป่วยอื่น ๆ เลยก็ได้
2. ฉันจะเตรียมตัวอย่างไรดี ?
การรู้วิธีจัดการในวันที่ป่วยจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
เป้าหมายในการดูแลตนเองในวันที่ป่วยคือ :
* ป้องกันการขาดน้ำ
* ป้องกันภาวะกรดเกินจากคีโทน (ระดับน้ำตาลและคีโทนในเลือดสูง)
* ป้องกันภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย (ระดับกลูโคสในเลือดต่ำ)
3. จะรู้ได้อย่างไรว่ามีคีโทนในร่างกาย ?
อาการที่อาจสังเกตได้เมื่อร่างกายผลิตคีโทนในเลือดเยอะ :
“- ลมหายใจกลิ่นเหมือนผลไม้
– ระดับกลูโคสในเลือดสูง
– ต้องไปเข้าห้องน้ำบ่อย
– กระหายน้ำมาก
– รู้สึกเหนื่อยกว่าปกติ
– ปวดท้อง
– มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการหายใจ (ส่วนใหญ่จะหายใจลึกขึ้น)
– สับสน
– เป็นลม
– รู้สึกไม่สบาย”
วิธีการตรวจวัดคีโทนที่ดีที่สุดคือการใช้แถบทดสอบคีโทนในเลือด ซึ่งผู้ป่วยมักจะไม่มีแถบทดสอบและเครื่องตรวจคีโทนในเลือดที่บ้าน แต่คลินิกหรือสถานพยาบาลในชุมชนของคุณอาจตรวจระดับคีโทนในเลือดได้
4. ฉันควรทำอย่างไรเมื่อฉันป่วย ?
โปรดทำตามแนวปฏิบัติดังนี้เมื่อมีการเจ็บป่วย :
– ห้ามหยุดใช้อินซูลิน !
– อาจต้องเพิ่มหรือลดขนาดของอินซูลิน ขึ้นอยู่กับระดับกลูโคสในเลือดและอาหารที่รับประทาน
– เพิ่มการตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดเป็นทุก 3-4 ชั่วโมง หากสามารถทำได้
– หากไม่สามารถตรวจระดับกลูโคสในเลือดได้ที่บ้าน ให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล เพื่อให้ได้รับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ
– ดื่มน้ำให้มากขึ้น รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ บ่อย ๆ และให้ตรงเวลามื้ออาหารตามปกติ
– ลดไข้
การตรวจติดตามปริมาณคีโทนในปัสสาวะและในเลือดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยส่วนมากต้องใช้อินซูลินเพิ่มในการควบคุมระดับกลูโคสในเลือด (เว้นแต่การเจ็บป่วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย)
หากคุณมีระดับกลูโคสในเลือดสูงโดยที่ไม่มีคีโทนหรือมีคีโทนน้อย :
– ฉีดอินซูลินออกฤทธิ์สั้นหรือออกฤทธิ์เร็วขนาด 5-10% ของปริมาณอินซูลินต่อวัน และฉีดซ้ำทุก 2-4 ชั่วโมง
หากคุณมีระดับกลูโคสในเลือดสูงโดยที่มีคีโทนปานกลางหรือมาก :
– ฉีดอินซูลินออกฤทธิ์สั้นหรือออกฤทธิ์เร็วขนาด 10-20% ของปริมาณอินซูลินต่อวัน และฉีดซ้ำทุก 2-4 ชั่วโมง
หากคุณอาเจียน อาจบ่งบอกถึงปริมาณอินซูลินที่ไม่เพียงพอหรือภาวะกรดเกินจากคีโทน ควรติดต่อแพทย์หรือไปคลินิก/โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที