1. การตรวจคัดกรองภาวะเเทรกซ้อนของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 สำคัญอย่างไร ?
การตรวจคัดกรองหาปัจจัยเสี่ยงเเละภาวะเเทรกซ้อนเริ่มต้นตั้งเเต่ตอนวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 คุณต้องเข้าใจว่าการตรวจคัดกรองมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยให้ตรวจพบภาวะแทรกซ้อนได้ตั้งเเต่ระยะแรก ทำให้สามารถหาวิธีชะลอการดำเนินโรคได้
เรียนรู้ว่าคุณจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานบ่อยเพียงใด และคุณจะรู้อะไรจากการทดสอบและการตรวจคัดกรองต่าง ๆ ได้บ้าง
2. การตรวจคัดกรองทุก 3 เดือน
ทีมดูเเลโรคเบาหวานของคุณจะต้องตรวจคัดกรองสิ่งเหล่านี้บ่อย :
– น้ำหนักเเละส่วนสูง เพื่อติดตามว่าคุณคุมน้ำหนักได้เหมาะสมหรือไม่
– ตรวจค่า HbA1c : HbA1c คือค่าเฉลี่ยของระดับกลูโคสในเลือดในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา การควบคุมให้ค่านี้น้อยกว่า 7.5% เป็นสิ่งที่สำคัญ
สถานพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถตรวจ HbA1c สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ คุณควรหาโอกาสตรวจ HbA1c อย่างน้อยปีละครั้ง
3. การตรวจคัดกรองทุกปี
ทีมดูแลโรคเบาหวานของคุณจะนัดหมายให้คุณมาตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและจะแนะนำให้คุณมาตรวจบ่อยขึ้นหรือรับการรักษาหากพบว่ามีความผิดปกติ
– ความดันเลือด : เพื่อตรวจว่ามีความดันเลือดสูงหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อหลอดเลือดเเละหัวใจได้
– การตรวจคัดกรองตา : วัดระดับการมองเห็น และตรวจดูว่ามีโรคจอตา ต้อกระจก หรือต้อหินหรือไม่
– การตรวจคัดกรองเท้า : ตรวจเท้าอย่างละเอียดโดยการซักประวัติเเละการตรวจร่างกาย
– การทำงานของไต : ตรวจระดับแอลบูมินและครีแอทินินจากปัสสาวะเเละเลือดของคุณ เพื่อประเมินการทำงานของไต
– ไขมันในเลือด : ตรวจระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพื่อดูว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่