1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เท้าได้อย่างไร ?
ระดับกลูโคสในเลือดที่สูงสามารถสร้างความเสียหายต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้และทำให้เกิดปัญหาต่อการไหลเวียนของเลือดและการติดเชื้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียความรู้สึกที่เท้าหรืออาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ผิดปกติ เช่น รู้สึกเหน็บชาหรือแสบร้อน
หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ปัญหาเหล่านี้อาจนำไปสู่การเกิดแผลที่เท้าที่หายยาก และคุณอาจไม่รู้ว่าเกิดแผลเหล่านี้ขึ้น นำไปสู่การเกิดแผลอักเสบและแผลติดเชื้อ จนถึงขั้นต้องตัดขาทิ้งได้
2. การตรวจดูอาการแสดงของปัญหาที่เท้า
แนะนำให้คุณตรวจดูเท้าของคุณทุกวันและแจ้งให้แพทย์ของคุณทราบว่ามีอาการหรือลักษณะดังต่อไปนี้หรือไม่ :
– รู้สึกเหน็บชาคล้ายเข็มทิ่ม
– ปวดแสบร้อน
– ปวดตื้อ ๆ
– ผิวหนังบริเวณเท้าเรียบเป็นมันวาว
– ขนบริเวณขาและเท้าร่วง
– สูญเสียความรู้สึกที่ขาและเท้า
– เท้าบวม
– เหงื่อไม่ออกบริเวณเท้า
– แผลหายช้า
– ปวดน่องทั้งเวลาเดินและพัก
หากคุณพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่อันตรายเหล่านี้เกิดขึ้น ให้รีบติดต่อแพทย์ของคุณทันที :
– รูปร่างและสีของเท้าเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
– รู้สึกร้อนหรือหนาวบริเวณเท้า
– มีแผลหรือรอยพุพองที่เท้า แต่ไม่รู้สีกเจ็บ
– แผลเปิดมีกลิ่นเหม็น
คุณควรรับการตรวจเท้าอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจดูว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับเส้นประสาทหรือไม่
การตรวจเท้าคืออะไร ? ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมจะตรวจดูเท้าและขาของคุณว่ามีอาการชา การไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดี ตาปลา หนังหนาด้าน ปัญหาเล็บเท้า หรือปัญหาอื่น ๆ หรือไม่ จะมีการให้คำปรึกษาว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาที่เท้าหรือไม่
3. คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาที่เท้า
– รักษาระดับกลูโคสในเลือดให้อยู่ในช่วงเป้าหมายที่กำหนดไว้
– สวมใส่รองเท้าขนาดพอดี ไม่คับเกินไป หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้ารัดรูปหรือรองเท้าส้นสูงหากเป็นไปได้
– ดูแลให้เท้าแห้งและสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
– ตัดเล็บเท้าให้สั้น
– ไม่เดินเท้าเปล่านอกบ้าน เพื่อป้องกันรอยแผลหรือถลอก
– พยายามออกกำลังกายให้ได้วันละ 30 นาที