1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อการมองเห็นได้อย่างไร ?
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดโรคของตาที่เรียกว่า โรคจอตาเหตุเบาหวาน ซึ่งอาจส่งผลต่อการมองเห็นได้
หากระดับกลูโคสในเลือดของคุณสูงเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดต่าง ๆ ได้ เมื่อหลอดเลือดที่ตาได้รับความเสียหาย จะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงจอตา (ส่วนของตาที่ทำให้เราสามารถมองเห็นได้)
เมื่อหลอดเลือดในตาถูกทำลาย นั่นหมายความว่าจอตาจะได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้จอตาไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งจะทำให้คุณไม่สามารถมองเห็นได้ตามปกติและอาจถึงขั้นตาบอดได้
มีหลายสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นหากตรวจพบว่ามีความผิดปกติได้เร็วพอ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการควบคุมระดับกลูโคสในเลือดให้อยู่ในช่วงเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว การตรวจตาประจำปีสามารถช่วยให้แพทย์ของคุณพบความผิดปกติของตาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะตาบอด
2. ความผิดปกติของตาที่เกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง ?
– ต้อกระจก เกิดจากการที่แก้วตาหนาตัวและขุ่นมัวขึ้น ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนและมองเห็นลำบากในเวลากลางคืน
– ต้อหิน เกิดจากการสะสมของความดันที่สูงในลูกตาจนทำให้เลือดมาเลี้ยงจอตาและเส้นประสาทตาได้ลดลง ทำให้เกิดความเสียหาย หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้ตาบอดได้
– โรคจอตาเหตุเบาหวาน เกิดจากการที่หลอดเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาถูกทำลายหรือมีปัญหาการเจริญเติบโต
3. การตรวจพบความผิดปกติของตาตั้งแต่เนิ่น ๆ
วิธีที่ดีที่สุดในการดูว่าคุณมีความผิดปกติของตาหรือไม่ คือการไปตรวจตากับจักษุแพทย์ คุณอาจมีความผิดปกติของตาได้แม้ว่าสายตาจะยังปกติอยู่ ความผิดปกติของตาจากโรคเบาหวานไม่เกี่ยวข้องกับการต้องใส่แว่น
การตรวจหาความผิดปกติของตาให้เจอแต่เนิ่น ๆ และการรีบรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นคุณควรทำนัดตรวจตาทุกปี ซึ่งการตรวจนี้ไม่เหมือนกับการตรวจสายตาเพื่อตัดแว่นหรือคอนแท็กต์เลนส์
การตรวจคัดกรองตาในผู้ป่วยเบาหวานตรวจดูอะไร ? จักษุแพทย์จะถ่ายรูปจอตาแต่ละข้างเพื่อเปรียบเทียบดูการเปลี่ยนแปลงของจอตาและดูว่ามีลักษณะของโรคจอตาหรือไม่
หากตรวจพบความผิดปกติเเต่เนิ่น ๆ คุณสามารถนำผลตรวจตาประจำปีไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการรักษาและป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้
4. คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของตา
– หมั่นตรวจระดับกลูโคสในเลือดเป็นประจำ
– รับการตรวจคัดกรองตาทุกปี
– คอยสังเกตความความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็น เช่น : ตามัว (โดยเฉพาะเวลากลางคืน) เห็นวัตถุลอยไปมาในตา หรือตาสู้แสงไม่ได้
– รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพตามแนวทางที่กำหนด และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ไม่ดี เช่น น้ำหวาน ขนมหวาน หรืออาหารขยะ เช่น มันฝรั่งทอด
– พยายามออกกำลังกายให้ได้วันละ 30 นาที