1. ทำไมจึงต้องออกกำลังกาย ?
การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน เพราะทำให้เรารู้สึกมีเรี่ยวแรงและช่วยควบคุมให้น้ำหนักอยู่ในระดับที่เหมาะสม การออกกำลังกายมีความสำคัญเป็นพิเศษโดยเฉพาะสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยให้การควบคุมกลูโคสในเลือดดีขึ้นและยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองอีกด้วย
การออกกำลังกายทุกวิธีเป็นสิ่งที่ดี ตั้งแต่การเดิน การปั่นจักรยาน ไปจนถึงการเล่นฟุตบอล ควรสนับสนุนให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้พยายามออกกำลังกายเล็กน้อยในทุกวัน
ในช่วงเริ่มต้น ควรช่วยตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกายวันละ 30 นาที จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มเวลาขึ้นเป็นวันละ 60 นาที 5-6 วันต่อสัปดาห์ เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน หากคุณออกกำลังกายร่วมกับผู้ป่วยด้วยจะเป็นสิ่งที่ดีมาก การทำเช่นนี้ยังส่งเสริมความเคยชินในการออกกำลังกายทุกวันอีกด้วย !
หากเด็กที่เป็นโรคเบาหวานรู้สึกกังวลและเพิ่งเริ่มออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา การให้การสนับสนุนทางอารมณ์จะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากผู้ปกครองแสดงท่าทีกังวลใจและไม่สนับสนุนให้เด็กทำกิจกรรม ก็จะเป็นการตอกย้ำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองผิดปกติ ป่วย หรืออ่อนแอมากขึ้น
2. การออกกำลังกายส่งผลต่อระดับกลูโคสในเลือดอย่างไร?
การออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวร่างกายมีผลต่อระดับกลูโคสในเลือดในหลาย ๆ ด้าน :
โดยส่วนมากจะทำให้ระดับกลูโคสในเลือดต่ำลงเนื่องจาก :
– กล้ามเนื้อใช้กลูโคสเป็นพลังงานมากขึ้น
– ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินไวขึ้น
หรือบางครั้งก็อาจทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้นเนื่องจาก :
– ผลของฮอร์โมนอื่น ๆ ในร่างกาย (มักเกิดขึ้นชั่วคราวจากความเครียดหรือความตื่นเต้น)
– การเจ็บป่วย
3. วางแผนล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา
– ตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดก่อนออกกำลังกาย : จะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าต้องรับประทานอาหารปริมาณเท่าใดก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกาย
– ชุดแก้ภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย : ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเด็กที่เป็นโรคเบาหวานพกชุดแก้ภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย (เช่น น้ำผลไม้และขนมปังกรอบ) ติดตัวไว้เมื่อออกกำลังกาย
– เเจ้งโค้ชหรือครู : ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเด็กได้รับการดูแลโดยบุคคลที่สามารถช่วยเหลือได้ในกรณีที่มีภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยหรือภาวะเลือดมีน้ำตาลมาก
– การฉีดอินซูลิน : ให้เด็กที่เป็นโรคเบาหวานหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายภายใน 2 ชั่วโมงหลังการฉีดอินซูลิน เพราะอาจทำให้ระดับกลูโคสในเลือดต่ำเร็วยิ่งขึ้น ปรึกษาแพทย์หากคุณไม่มั่นใจเรื่องตารางการฉีดอินซูลิน
– อาหารที่ควรรับประทานก่อนออกกำลังกาย : สอบถามแพทย์หรือพยาบาลว่าเด็กที่เป็นโรคเบาหวานควรต้องรับประทานอาหารปริมาณเท่าใดก่อนออกกำลังกาย ตัวเลือกอาหารที่เหมาะสมได้แก่ : ผลไม้ นมไขมันต่ำ โยเกิร์ต ขนมปังกรอบ หรือขนมปังหนึ่งแผ่น
– การออกกำลังกายเป็นระยะเวลานาน : การออกกำลังกายเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจต้องการคาร์โบไฮเดรดเพิ่มเติม และ/หรือ การลดปริมาณอินซูลินที่ฉีด ให้ปรึกษาเรื่องนี้กับแพทย์หรือพยาบาลก่อน
4. สนับสนุนให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ดูแลตนเอง
เด็กที่เป็นโรคเบาหวานต้องรู้จักดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเมื่อเด็ก ๆ ต้องอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล เช่น ครู
แต่การจัดการโรคเบาหวานอย่างเหมาะสมอาจหมายถึงการต้องขัดจังหวะครู ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เด็กควรมีอิสระที่จะหยุดเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเพื่อดูแลโรคเบาหวาน เช่น การรับประทานของว่างเมื่อมีอาการจากกลูโคสในเลือดต่ำ หรือการตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือด