1. ภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยเกิดขึ้นเมื่อระดับกลูโคสในเลือดต่ำกว่า 70 มก./ดล.
ภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยเป็นภาวะที่พบได้บ่อย สามารถพบได้ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกือบทุกคน
บางครั้งภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยอาจรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยเป็นลมหรือชักได้ ในกรณีนี้ คุณต้องพาผู้ที่เป็นโรคเบาหวานไปรับการรักษาทันที
2. จะรู้ว่ามีภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยได้อย่างไร ?
อาการและอาการแสดงเมื่อระดับกลูโคสในเลือดต่ำอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและอัตราการลดลงของระดับกลูโคสในเลือด
สัญญาณเตือนเมื่อกลูโคสในเลือดต่ำได้แก่ :
- เหงื่อออก
- หิว
- หัวใจเต้นเร็ว
- พูดไม่ชัด
- หงุดหงิด
- เวียนศีรษะ
- เหนื่อย
- ตามัว
- ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ
- ตัวสั่น
อย่าลืม : อาการเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดจากระดับกลูโคสในเลือดต่ำเสมอไป ควรให้ผู้ป่วยตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดทุกครั้งเมื่อรู้สึกไม่สบาย ห้ามเดาเองเด็ดขาด ! ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอาจมีภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยตอนกลางคืนได้ โดยอาจร้องไห้ ฝันร้าย หรือเหงื่อออกตอนกลางคืน (อาจมีผ้าปูที่นอนและ/หรือชุดนอนเปียก) และอาจตื่นขึ้นมาด้วยอาการหงุดหงิดหรือปวดหัว
3. สาเหตุของระดับกลูโคสในเลือดต่ำ
ภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดมากขึ้นหากผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 :
- ข้ามหรือเลื่อนมื้ออาหารหรือของว่างออกไป หรือไม่รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตให้พอกับอินซูลินที่ได้รับไ
- ได้รับอินซูลินมากเกินไป ฉีดอินซูลินผิดชนิด หรือฉีดอินซูลินผิดเวลา
- ออกกำลังกายมากกว่าปกติโดยไม่ได้รับประทานอาหารเพิ่มหรือปรับปริมาณอินซูลิน
ระดับกลูโคสในเลือดต่ำสามารถเกิดขึ้นได้ :
- ในระหว่างการนอนหลับ ซึ่งเรียกว่า ภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยตอนกลางคืน
- หลายชั่วโมงหลังการออกกำลังกาย ซึ่งเรียกว่า ภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยหลังการออกกำลังกาย
- หลังจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะลดความสามารถของร่างกายในการรักษาระดับกลูโคสในเลือดให้อยู่ในช่วงปกติ ซึ่งอาจทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงอย่างฉับพลันได้ ควรพูดคุยกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเกี่ยวกับผลเสียต่อสุขภาพจากการใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด
4. การตรวจระดับกลูโคสในเลือดต่ำ
วิธีเดียวที่จะทราบได้อย่างแน่ชัดว่ากำลังมีระดับกลูโคสในเลือดต่ำหรือไม่คือการตรวจวัด อย่างไรก็ตามหากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถตรวจระดับกลูโคสในเลือดได้ในทันที การรักษาทันทีเมื่อสงสัยภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงจะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
การพูดคุยเกี่ยวกับอาการและอาการแสดงของภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะพวกเขาจำเป็นต้องเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาการต่าง ๆ และความจำเป็นในการได้รับการรักษา เด็กที่เป็นโรคเบาหวานควรรู้วิธีขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เมื่อจำเป็น
5. ระดับกลูโคสในเลือดต่ำ (ภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย) รักษาอย่างไร ?
หากระดับกลูโคสในเลือดต่ำกว่า 70 มก./ดล. ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
โดยคุณต้องทำตามขั้นตอนดังนี้ :
- ให้รับประทานน้ำเชื่อม 1 ช้อนโต๊ะหรือดื่มเครื่องดื่มรสหวานครึ่งแก้ว เช่น น้ำผลไม้หรือน้ำอัดลม (ที่ไม่ใช่สูตรไม่มีน้ำตาล) แล้วให้พัก 15 นาที หลังจากนั้นจึงตรวจกลูโคสในเลือด
- หากระดับกลูโคสในเลือดสูงกว่า 70 มก./ดล. ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 20-30 นาทีเพื่อยืนยันว่าระดับกลูโคสในเลือดอยู่ในเป้าหมายแล้ว (> 70 มก./ดล.)
- หากระดับกลูโคสในเลือดยังคงต่ำกว่า 70 มก./ดล. ให้รับประทานน้ำเชื่อม 1 ช้อนโต๊ะอีกครั้งหรือดื่มน้ำหวานครึ่งแก้ว เช่น น้ำผลไม้หรือน้ำอัดลม (ที่ไม่ใช่สูตรไม่มีน้ำตาล) แล้วพัก 15 นาทีและตรวจระดับกลูโคสในเลือด
หากภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยเกิดขึ้นก่อนมื้ออาหาร (ซึ่งมักเป็นเวลาที่ต้องฉีดอินซูลิน) ควรรักษาภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยก่อน และเมื่อระดับกลูโคสในเลือด > 70 มก./ดล. แล้ว ค่อยให้อินซูลินตามปกติ ห้ามเว้นการฉีดอินซูลินเด็ดขาด โดยเฉพาะหากมีภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อยในช่วงเช้าตรู่
หากพบคนมีอาการชักหรือหมดสติ อย่าให้รับประทานอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดการสำลักได้ (อาหารที่เข้าไปในทางเดินหายใจอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบอย่างรุนแรงได้) คุณต้องพาไปแผนกฉุกเฉินที่โรงพยาบาล