1. อินซูลินคืออะไร ?
อินซูลินคือฮอร์โมนที่ช่วยพากลูโคสเข้าไปในเซลล์ร่างกายเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน ร่างกายของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ พวกเขาจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับอินซูลินทุกวัน
เป้าหมายโดยรวมของการรักษาโดยใช้อินซูลิน คือ เพื่อให้ปริมาณอินซูลินที่ได้รับสัมพันธ์กับปริมาณอินซูลินที่คนคนหนึ่งต้องการตลอดวัน การทำเช่นนี้จะทำให้สามารถรักษาระดับกลูโคสในเลือดให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาระยะสั้นและระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นจากโรคเบาหวานได้
ชนิดของอินซูลินและปริมาณที่ต้องใช้ในแต่ละวันจะขึ้นอยู่กับแผนการรักษาของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแต่ละคน แผนการรักษาบางรูปแบบต้องฉีดอินซูลินวันละสองครั้ง บางรูปแบบต้องฉีดสามครั้งขึ้นไปเพื่อให้ควบคุมระดับกลูโคสในเลือดได้
2. อินซูลินชนิดต่าง ๆ มีอะไรบ้าง ?
ชนิดออกฤทธิ์สั้น
อินซูลินออกฤทธิ์สั้นจะช่วยควบคุมระดับกลูโคสในเลือดที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อรับประทานอาหาร อินซูลินชนิดนี้ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วแต่มีฤทธิ์เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เวลาที่แน่นอนในการฉีดอินซูลินออกฤทธิ์สั้นนั้นขึ้นอยู่กับเวลามื้ออาหาร โดยปกติจะฉีดในช่วง 30 นาทีก่อนรับประทานอาหาร ขึ้นอยู่กับชนิดของอินซูลินที่ใช้
ชนิดออกฤทธิ์ยาว
อินซูลินออกฤทธิ์ยาวจะออกฤทธิ์ช้าและมีฤทธิ์นานเกือบหนึ่งวัน อินซูลินชนิดนี้จะทำหน้าที่ควบคุมระดับกลูโคสในเลือดระหว่างมื้ออาหาร ทำให้ระดับกลูโคสในเลือดคงที่ตลอดทั้งวัน มักจะใช้ฉีดเวลาก่อนเข้านอน
เวลาที่แน่นอนในการฉีดนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของอินซูลินที่ใช้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลเพื่อกำหนดเวลาในการฉีดและขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย ระดับอินซูลินที่เด็กต้องการจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ วิธีแก้ปัญหาคือการพูดคุยกับเด็กเป็นระยะถึงโรคของเขาและปรึกษาแพทย์หรือพยาบาล
3. ผลของอินซูลิน
คุณไม่สามารถ “หยุด” การออกฤทธิ์ของอินซูลินได้เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม ดังนั้นการฉีดให้ตรงเวลาและการจัดให้ปริมาณอินซูลินเหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วยในแต่ละวันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การควบคุมโรคที่ดีเป็นผลมาจากการทำตามแผนที่วางไว้อย่างดีทุกวัน คุณควรช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานยึดตามแผนมื้ออาหารทุกวันและออกกำลังกายให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที การออกกำลังกายทุกวันจะช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ง่ายขึ้น
แม้ว่าผู้ปกครอง ผู้ดูแล ผู้ให้การรักษา และเด็กที่เป็นโรคเบาหวานจะทำเต็มที่แล้ว แต่การควบคุมระดับกลูโคสในเลือดให้สมบูรณ์แบบนั้นเป็นไปไม่ได้ ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ อาจมีบางครั้งที่ปริมาณอินซูลินที่ได้รับมากหรือน้อยเกินไปเทียบกับความต้องการของร่างกาย และอาจทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปได้
หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มผู้ที่ใช้อินซูลินคือกลูโคสในเลือดต่ำ หรือที่เรียกว่าภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย ซึ่งอาจเกิดได้ทุกเมื่อ แต่จะมีโอกาสเกิดมากขึ้นในบางกรณี — ยกตัวอย่างเช่น หากรับประทานอาหารน้อยหรือออกกำลังกายมากกว่าปกติ
ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานบางราย การฉีดอินซูลินบ่อย ๆ อาจทำให้เนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนังหนาตัวเป็นก้อนได้ ซึ่งจะเรียกว่าภาวะลิพิดเจริญผิดเพี้ยน (หรือภาวะลิพิดโตเกิน) ซึ่งจะมีโอกาสพบได้มากขึ้นหากฉีดที่บริเวณเดิมซ้ำ ๆ แทนที่จะเปลี่ยนบริเวณฉีดตามคำแนะนำ ในบางกรณี อินซูลินที่ฉีดเข้าไปในบริเวณที่มีภาวะลิพิดเจริญผิดเพี้ยนอาจไม่ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดตามที่ควรจะเป็น ทำให้อินซูลินใช้เวลานานกว่าปกติจึงจะออกฤทธิ์