1. การเจ็บป่วยมีผลอย่างไรต่อระดับกลูโคสในเลือด ?
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานก็มีโอกาสเจ็บป่วยได้เหมือนคนอื่นทั่วไป แต่เนื่องจากการเจ็บป่วยของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอาจมีผลทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้นหรือต่ำลงได้ จึงต้องมีการดูแลเป็นพิเศษเพื่อควบคุมระดับกลูโคสในเลือด
ระดับกลูโคสในเลือดอาจคาดการณ์ได้ยากมากในวันที่ป่วย คุณไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่นอนว่าการเจ็บป่วยจะมีผลอย่างไรต่อการควบคุมโรคเบาหวาน เพราะฉะนั้นถ้าผู้ป่วยโรคเบาหวานเจ็บป่วย สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดให้บ่อยกว่าปกติ และปรับเปลี่ยนขนาดของอินซูลินตามความต้องการของร่างกาย
หากผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเจ็บป่วยเป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีไข้ก็ได้ ร่างกายจะต้องการพลังงานเพิ่มเติมเพื่อที่จะต่อต้านเชื้อโรค ซึ่งอาจมีผลต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลินด้วย
เซลล์ในร่างกายอาจต้องใช้อินซูลินมากขึ้นหรือน้อยลงในการทำงาน ดังนั้นการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำ และการตรวจติดตามระดับกลูโคสในเลือด จึงล้วนมีความสำคัญมากเมื่อผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเจ็บป่วย
หากเซลล์ในร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอ หรือหากร่างกายไม่ได้รับอินซูลินเพียงพอที่จะนำกลูโคสเข้าไปใช้ในเซลล์ ร่างกายจะสร้างพลังงานจากการสลายไขมันและกล้ามเนื้อแทน กระบวนการนี้จะก่อให้เกิดของเสียที่เรียกว่าคีโทน ซึ่งเป็นอันตรายเมื่อสะสมในปริมาณมาก
หากระดับกลูโคสในเลือดที่สูงไม่ได้รับการรักษา ร่างกายจะสร้างคีโทน และผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจเกิดภาวะกรดเกินจากคีโทน โดยที่อาจไม่ได้มีการเจ็บป่วยอื่น ๆ เลยก็ได้
2. ฉันจะเตรียมตัวสำหรับวันที่ป่วยอย่างไร ?
การรู้วิธีดูแลผู้ที่เป็นโรคเบาหวานในวันที่เขาป่วยจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
เป้าหมายของการดูแลผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่เจ็บป่วยคือ:
– ป้องกันการขาดน้ำ
– ป้องกันภาวะกรดเกินจากคีโทน (ระดับน้ำตาลและคีโทนในเลือดสูง)
– ป้องกันภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย (ระดับกลูโคสในเลือดต่ำ)
3. จะรู้ได้อย่างไรว่ามีคีโทนในร่างกาย ?
อาการของผู้ป่วยที่อาจสังเกตได้เมื่อร่างกายผลิตคีโทนในเลือดเยอะ :
“- ลมหายใจกลิ่นเหมือนผลไม้
– ระดับกลูโคสในเลือดสูง
– ต้องไปเข้าห้องน้ำบ่อย
– กระหายน้ำมาก
– รู้สึกเหนื่อยกว่าปกติ
– ปวดท้อง
– มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการหายใจ (ส่วนใหญ่จะหายใจลึกขึ้น)
– สับสน
– เป็นลม
– รู้สึกไม่สบาย”
วิธีการตรวจวัดคีโทนที่ดีที่สุดคือการใช้แถบทดสอบคีโทนในเลือด ซึ่งผู้ป่วยมักจะไม่มีแถบทดสอบและเครื่องตรวจคีโทนในเลือดที่บ้าน แต่คลินิกหรือสถานพยาบาลในชุมชนของคุณอาจตรวจระดับคีโทนในเลือดได้
4. ฉันควรทำอย่างไรเมื่อมีผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เจ็บป่วย ?
โปรดทำตามแนวปฏิบัติดังนี้เมื่อมีการเจ็บป่วย :
– ห้ามหยุดใช้อินซูลิน !
– อาจต้องเพิ่มหรือลดขนาดของอินซูลิน ขึ้นอยู่กับระดับกลูโคสในเลือดและอาหารที่รับประทาน
– เพิ่มการตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดเป็นทุก 3-4 ชั่วโมง หากสามารถทำได้
– หากไม่สามารถตรวจระดับกลูโคสในเลือดได้ที่บ้าน ให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล เพื่อให้ได้รับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ
– ดื่มน้ำให้เพียงพอ
ตัวอย่างของเหลวที่เหมาะสมสำหรับเด็กในวันที่ป่วย เช่น น้ำเปล่าหรือซุป ให้เด็กดื่มน้ำปริมาณน้อยแต่บ่อย (ประมาณ 1/2 แก้วทุกชั่วโมง) หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้
– ลดไข้
– ควรให้รับประทานอาหารเป็นมื้อตามปกติ แต่หากไม่สามารถทำได้ ต้องให้ผู้ป่วยรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่เป็นอาหารหรือของเหลวก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลูโคสในเลือดต่ำลงฉับพลัน
การตรวจติดตามปริมาณคีโทนในปัสสาวะและในเลือดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยส่วนมากผู้ป่วยจะต้องใช้อินซูลินเพิ่มในการควบคุมระดับกลูโคสในเลือด (เว้นแต่การเจ็บป่วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย)
“ในกรณีที่ระดับกลูโคสในเลือดสูงโดยที่ไม่มีคีโทนหรือมีคีโทนน้อย :
-> ให้อินซูลินออกฤทธิ์สั้นหรือออกฤทธิ์เร็วขนาด 5-10% ของปริมาณอินซูลินต่อวัน และให้ซ้ำทุก 2-4 ชั่วโมง”
“ในกรณีที่ระดับกลูโคสในเลือดสูงโดยที่มีคีโทนปานกลางหรือมาก :
-> ให้อินซูลินออกฤทธิ์สั้นหรือออกฤทธิ์เร็วขนาด 10-20% ของปริมาณอินซูลินต่อวัน และให้ซ้ำทุก 2-4 ชั่วโมง”
หากมีอาการอาเจียน อาจบ่งบอกถึงปริมาณอินซูลินที่ไม่เพียงพอหรือภาวะกรดเกินจากคีโทน ควรติดต่อแพทย์หรือไปคลินิก/โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที