ข้อมูล T1D

ไอคอน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ

เกี่ยวกับเรา

อินซูลิน คือ อะไร แบ่งออกเป็นกี่ชนิด

เรียบเรียงโดย: 22.01.2025

Anne-Charlotte Ficheroulle

Pharmacist, Digital Innovation Manager, A4D

1. อินซูลิน คือ อะไร ?

อินซูลิน คือ ฮอร์โมนที่ช่วยลดระดับของน้ำตาลกลูโคสในเลือด โดยผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อาจไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เลยหรือผลิตได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ทุกรายจำเป็นต้องใช้อินซูลินทดแทนโดยการฉีดอินซูลินเข้าใต้ผิวหนัง

เป้าหมายโดยรวมของการรักษาเบาหวานโดยการใช้อินซูลิน คือ เพื่อให้ปริมาณอินซูลินที่ได้รับสัมพันธ์กับปริมาณอินซูลินที่ร่างกายต้องการตลอดวัน เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดใกล้เคียงกับระดับของคนปกติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันผู้ป่วยเบาหวานจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ ในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มใช้อินซูลินอาจต้องใช้เวลานานพอสมควรในปรับปริมาณยาที่ต้องใช้เพื่อให้เหมาะสมกับร่างกายและระดับอินซูลิน ในหนึ่งวันผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลายครั้ง เพื่อที่แพทย์จะได้นำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการวางแผนปรับปริมาณยาที่เหมาะสมมากที่สุด

ชนิดของอินซูลินและปริมาณที่ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องใช้ในแต่ละวันจะขึ้นอยู่กับแผนการรักษาโรคเบาหวาน บางรายอาจต้องฉีดอินซูลินวันละสองครั้ง บางรายอาจต้องฉีดหลายครั้งเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แพทย์ประจำตัวจะช่วยในการตัดสินใจว่าวิธีใดเหมาะสมมากที่สุด

2. อินซูลินชนิดต่าง ๆ มีอะไรบ้าง ?

ชนิดออกฤทธิ์สั้น
อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้นจะช่วยควบคุมระดับกลูโคสในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อรับประทานอาหาร อินซูลินชนิดนี้ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วแต่มีฤทธิ์เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เวลาที่ควรฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้นนั้นขึ้นอยู่กับเวลาในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ โดยปกติจะฉีดในช่วง 30 นาทีก่อนรับประทานอาหาร โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของอินซูลินที่ใช้

ชนิดออกฤทธิ์ยาว
อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ยาวจะออกฤทธิ์ช้าและมีฤทธิ์นานเกือบหนึ่งวัน อินซูลินชนิดนี้จะทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างมื้ออาหาร ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ตลอดทั้งวัน มักจะฉีดช่วงเวลาก่อนเข้านอน โดยเวลาที่ควรฉีดนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของอินซูลินที่ใช้ ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลเพื่อขอคำแนะนำสำหรับการฉีดอินซูลินชนิดนี้

ชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง
อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง มีคุณสมบัติอยู่ระหว่างอินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว อินซูลินชนิดนี้ใช้เวลาประมาณ 1-3 ชั่วโมงในการเริ่มทำงาน ออกฤทธิ์สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 8 ชั่วโมง แต่โดยเฉลี่ยออกฤทธิ์นานประมาณ 12-16 ชั่วโมง

3. ความสำคัญของช่วงเวลาในการฉีดอินซูลิน

เมื่อฉีดอินซูลินเข้าร่างกายไปแล้ว จะไม่สามารถหยุดการออกฤทธิ์ของอินซูลินได้ ดังนั้น จึงต้องใช้อินซูลินในปริมาณที่ถูกต้องและในเวลาที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น หากต้องรับประทานอาหารช้ากว่าปกติเพราะจะออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านกับเพื่อน ๆ ก็ต้องเลื่อนการฉีดอินซูลินออกไปเช่นกัน โดยอาจจะรับประทานของว่างเล็กน้อยในช่วงเวลาอาหารปกติ แล้วค่อยฉีดอินซูลินในภายหลัง

การรับประทานอาหารตามเวลาเดิมทุกวัน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการใช้ยา จะช่วยให้ร่างกายรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมได้ และจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ง่ายขึ้นว่าควรใช้อินซูลินปริมาณเท่าใด หากไม่แน่ใจว่าควรปรับขนาดอินซูลินให้เหมาะสมกับอาหารหรือการออกกำลังกายอย่างไร ควรสอบถามแพทย์หรือทีมพยาบาลประจำตัวที่รักษาโรคเบาหวานให้คุณอยู่

แม้ว่าจะปฏิบัติตามข้อแนะนำต่าง ๆ อย่างที่ควรจะเป็น ในบางครั้งระดับน้ำตาลในเลือดก็อาจยังคงยากที่จะควบคุม ในผู้ป่วยเบาหวาน อาจมีบางครั้งที่ปริมาณอินซูลินที่ได้รับมากหรือน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความต้องการของร่างกาย และอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปได้

ปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มผู้ที่ใช้ อินซูลิน คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจเกิดได้ทุกเมื่อ แต่มักจะพบได้ในผู้ที่รับประทานอาหารน้อยหรือออกกำลังกายมากกว่าปกติ ทั้งนี้ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือผู้ที่เริ่มเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในช่วงสัปดาห์หรือเดือนแรก ๆ

หากเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปบ่อยครั้ง อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องปรับขนาดอินซูลินหรือแผนการรับประทานอาหาร ควรติดต่อแพทย์หรือพยาบาลประจำตัวเพื่อช่วยในการวางแผนควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับปกติมากที่สุด

4. ข้อควรรู้

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน การรักษาด้วยการใช้อินซูลินเป็นวิธีที่จะช่วยให้ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องรู้ว่าต้องใช้อินซูลินอย่างไรเมื่อใด และใช้อินซูลินประเภทใด ทั้งนี้เพื่อการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

ทำแบบทดสอบเรื่องอินซูลินกัน !

ไอคอน ข้อสงวนสิทธิ์: