
ข้อมูล T1D
ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ
เกี่ยวกับเรา
คำแนะนำสำหรับการวัดค่าน้ำตาลในเลือด
เรียบเรียงโดย: 17.03.2025
เครื่องวัดน้ำตาลในเลือด
เครื่องวัดน้ำตาลในเลือดเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่ใช้สำหรับตรวจวัดค่าน้ำตาลในเลือด ซึ่งใช้เพียงเลือดหยดเล็ก ๆ จากปลายนิ้วเท่านั้น
เครื่องวัดน้ำตาลในเลือดควรเก็บรักษาตามคำแนะนำของผู้ผลิตและปรับค่าให้เป็นมาตรฐานตลอด ทุกครั้งหลังการใช้ โดยปกติวิธีการใช้งานมักแตกต่างกันไปในแต่ละเครื่อง คุณสามารถอ่านวิธีใช้ได้จากคู่มือการใช้งาน หรือสอบถามแพทย์หรือพยาบาลเกี่ยวกับวิธีใช้และการเก็บรักษา
แถบตรวจน้ำตาลในเลือด
การใช้แถบตรวจน้ำตาลในเลือด ให้ใช้แถบตรวจที่ออกแบบมาสำหรับเครื่องวัดรุ่นนั้น ๆ เท่านั้น แถบตรวจแผ่นหนึ่งสามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้น ให้ใช้แถบตรวจแผ่นใหม่ทุกครั้งเมื่อต้องการจะตรวจค่าน้ำตาลในเลือด ควรเก็บรักษาตามคำแนะนำ และที่สำคัญห้ามใช้แถบตรวจที่หมดอายุแล้วและห้ามเก็บแถบตรวจไว้ในตู้เย็น
เข็มเจาะเลือดและปากกา
เข็มเจาะเลือดคือเข็มแหลมขนาดเล็กที่ใช้เจาะผิวหนัง ปกติมักจะมีด้ามปากกาพร้อมเข็มเจาะสำหรับเจาะปลายนิ้วเพื่อให้ได้หยดเลือดสำหรับการตรวจวัดค่าน้ำตาลในเลือด
ตามปกติแล้ว คุณควรตรวจค่าน้ำตาลในเลือดอย่างน้อย 4 ครั้งต่อวัน หรือในบางรายอาจกำหนดไว้ที่ 6 ครั้งต่อวัน ให้บันทึกผลจากการตรวจทุกครั้ง
ควรตรวจค่าน้ำตาลในเลือดตามเวลาดังนี้
1. หลังตื่นนอน ก่อนรับประทานอาหารเช้า
2. ช่วงสาย ก่อนมื้อเที่ยง
3. ช่วงเย็น ก่อนมื้อเย็น
4. ก่อนเข้านอน
หากมีแถบตรวจน้ำตาลในเลือดเหลือเพียงพอ อาจตรวจวัดเพิ่มเติมตามเวลาดังนี้
5. 2.5 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารเช้า
6. 2.5 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารกลางวัน
ทั้งนี้ หากคุณออกกำลังกายอย่างหนัก คุณควรตรวจน้ำตาลในเลือดให้บ่อยขึ้น (ทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และ 3-4 ชั่วโมงหลังออกกำลังกาย) หรือบางครั้งคุณสามารถตรวจช่วงกลางคืนเพื่อดูว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปหรือไม่ หรือตรวจเมื่อเจ็บป่วยเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจนถึงขั้นวิกฤติ การตรวจวัดเพื่อยืนยันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ) และการเฝ้าสังเกตอาการถือเป็นเรื่องที่จำเป็นมากเช่นกัน
หากคุณไม่สามารถควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยได้ อาจจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆทั้งระยะสั้น เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแล้วนั้น และนำไปสู่ภาวะโรคต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ด้วย เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด แลำอาการโคม่าจากน้ำตาลในเลือดสูง
การควบคุมโรคเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยได้นั้น ต้องอาศัยการตรวจค่าน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจตั้งเป้าไว้อย่างน้อยที่วันละ 4 ครั้ง หรือหากมีแถบตรวจเพียงพอคุณอาจจะตรวจวันละ 6 ครั้งได้ตามเวลาที่แนะนำ ได้แก่ ก่อนอาหารแต่ละมื้อและก่อนนอน หรืออาจปรึกษาแพทย์ถึงคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีตรวจค่าน้ำตาลในเลือดว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร และควรส่งผลการตรวจให้แพทย์พิจารณาสม่ำเสมอเพื่อให้แพทย์ทราบถึงค่าความผันผวนของระดับน้ำตาลในเลือด และสามารถนำมาปรับแผนการรักษาโรคเบาหวานให้เหมาะสมกับคุณมากขึ้น
1. ล้างและเช็ดมือให้สะอาด
2. นำแถบตรวจใส่เข้าไปในเครื่องวัดน้ำตาลในเลือด
3. ใช้เข็มเจาะนิ้ว
4. หยดเลือดลงบนแถบตรวจจนกว่าเลือดจะถูกดูดเข้าไปในเครื่องตรวจอย่างเพียงพอที่จะเริ่มการวัดค่า
5. เครื่องวัดน้ำตาลในเลือดจะแสดงผลภายในไม่กี่วินาที
6. บันทึกผลที่ได้ลงในสมุด
7. ทิ้งแถบทดสอบและเข็มเจาะที่ใช้แล้วในภาชนะที่เหมาะสม เก็บเครื่องวัดกลูโคสในเลือดให้เรียบร้อย
คำแนะนำ: การเลือกจุดเจาะ ไม่ควรเจาะเลือดจากนิ้วเดิมตลอด และควรเจาะด้านข้างของปลายนิ้วเพีราะจะเจ็บน้อยกว่าผิวด้านหน้านิ้ว
ระดับน้ำตาลในเลือดที่ดีควรจะอยู่ระหว่าง 70 – 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
– ช่วงตื่นนอนและก่อนรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ควรอยู่ระหว่าง 70 – 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
– ช่วงหลังอาหารและก่อนนอน ควรอยู่ระหว่าง 90 – 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ทั้งนี้ เกณฑ์ระดับน้ำตาลในเลือดของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป คุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาเกณฑ์ระดับน้ำตาลในเลือดที่ปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับตัวคุณเอง
ถ้าอ่านค่าได้ต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ควรเข้ารับการรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ) และควรศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
บางครั้งอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจเกิดขึ้นได้แม้ค่าน้ำตาลในเลือดจะสูงกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ดังนั้นควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับถึงสัญญาณเตือนและอาการ เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
หมายเหตุ:
– หากค่าน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารสูงเป็นประจำ แสดงว่าปริมาณอินซูลินที่ใช้ก่อนหน้าอาจต่ำเกินไป
– หากค่าน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารต่ำเป็นประจำ แสดงว่าปริมาณอินซูลินที่ใช้ก่อนหน้าอาจสูงเกินไป
– หากค่าน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารสูงบ้างต่ำบ้าง อาจมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ปริมาณอินซูลิน อาหารที่รับประทาน และการออกกำลังกาย
ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอแนะคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย
HbA1c คือ ค่าน้ำตาลสะสมในเลือดตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยปกติ แพทย์จะตรวจ HbA1c ทุก 3 เดือน ผลการตรวจนี้จะบ่งบอกถึงระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดโดยเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หากระดับ HbA1c สูง แสดงว่าไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ นั่นหมายถึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองได้ดี แพทย์จะตั้งเป้าระดับค่า HbA1c ไว้ต่ำกว่า 7%
หากระดับน้ำตาลในเลือดในปัจจุบันเกิน 7.5% ควรจะต้องปรับลดระดับค่า HbA1c เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระยะยาว การควบคุมค่า HbA1c ทำได้โดยการหมั่นตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ