
ข้อมูล T1D
ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ
เกี่ยวกับเรา
การจัดการภาวะ น้ำตาลในเลือดสูง
เรียบเรียงโดย: 17.03.2025
ระดับน้ำตาลในเลือด คือปริมาณของน้ำตาลกลูโคสที่อยู่ในเลือด เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 250 มก./ดล. จะเรียกว่าภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงมากอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายอย่างรุนแรงซึ่งต้องได้รับการรักษาโดยทันที
หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาจรุนแรงขึ้น และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น โคม่าจากโรคเบาหวาน
การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปเป็นระยะเวลานานมักทำให้เส้นประสาท หลอดเลือด และอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เสียหายได้ และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงต่าง ๆ เช่น หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย ตาบอด บาดแผลเรื้อรัง และการต้องตัดขา
น้ำตาลในเลือดสูง อาการ และสัญญาณเตือน อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
ทั้งนี้ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาการ มักปรากฏ ดังนี้
กระหายน้ำตลอดเวลา
ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
ตามัว
เหนื่อยตลอดเวลา
ปากแห้ง
ในกรณีที่มีภาวะ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ค่อนข้างรุนแรง อาจมีอาการดังนี้
คลื่นไส้
ปวดท้อง
หายใจผิดปกติ
ลมหายใจกลิ่นคล้ายแอลกอฮอล์
บางครั้งภาวะ น้ำตาลในเลือดสูง อาจรุนแรงมากจนทำให้เป็นลมหรือหมดสติได้ หากมีอาการที่กล่าวมา ควรรีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิกทันที
การดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ต้องมีความสมดุลในสามเรื่องหลัก ๆ ได้แก่ ปริมาณอินซูลินที่ฉีด อาหารที่รับประทาน และการออกกำลังกาย
โดยปัจจัยทั้งสามข้อนี้ต้องสมดุลกัน หากอย่างใดอย่างหนึ่งไม่พอดี ก็อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติได้ โดยทั่วไปแล้วระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติอาจเกิดได้จากสาเหตุ ดังนี้
การไม่ใช้อินซูลินเมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องใช้หรือใช้ในปริมาณที่ไม่ถูกต้อง
อินซูลินหมดอายุหรือถูกเก็บผิดวิธี
การไม่ทำตามแผนการรับประทานอาหาร เช่น การรับประทานอาหารหรือของว่างบ่อยเกินไป
การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำหวานมากเกินไป
การออกกำลังกายน้อยกว่าปกติ
การติดเชื้อ การเจ็บป่วย หรือการมีประจำเดือน
อารมณ์ เช่น ความตื่นเต้นหรือความเครียด
อาจเกิดขึ้นได้ชั่วคราว ระหว่างหรือหลังการออกกำลังกายที่หนักเกินไป
การใช้ยาชนิดอื่นที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาสำหรับโรคเบาหวาน
ส่วนหนึ่งของแผนการจัดการโรคเบาหวานคือการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดวันละหลายครั้งด้วยเครื่องวัดน้ำตาลกลูโคส ซึ่งจะช่วยให้ทราบได้ว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือไม่ ซึ่งในบางรายแม้ว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงแต่อาจไม่มีอาการ ดังนั้น ผู้ที่ไม่ได้ตรวจวัดอย่างสม่ำเสมออาจมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจนก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายโดยที่ไม่รู้ตัว
หากตรวจพบบ่อยครั้งว่าตนเองมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ เพราะอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนปริมาณของอินซูลินที่ใช้หรือเปลี่ยนแผนการรับประทานอาหาร ให้เหมาะสมกับสุขภาพ
หากน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250 มก./ดล. ต้องได้รับการดูแลและรักษาโดยด่วน
โดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแล้วฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น
ติดต่อแพทย์/พยาบาลประจำตัวเพื่อสอบถามว่าคุณควรได้รับอินซูลินเพิ่มขึ้นในปริมาณเท่าใดหรือ หากไม่แน่ใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรต่อไป
ดื่มน้ำให้มาก ๆ (อย่างน้อย 1 แก้วต่อชั่วโมง)
หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหักโหม
ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังผ่านไป 2 ชั่วโมง
หากระดับน้ำตาลในเลือดยังคงสูงเกิน 250 มก./ดล. ให้ติดต่อแพทย์/พยาบาลประจำตัวทันที
หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 400 มก./ดล. แสดงว่ามีภาวะ น้ำตาลในเลือดสูงอย่างรุนแรง ให้ฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้นทันที (10% ของปริมาณอินซูลินต่อวัน) และติดต่อแพทย์หรือโรงพยาบาลทันที
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือ น้ำตาลในเลือดสูง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดในร่างกายสูงเกินกว่าปกติ หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และในบางกรณีรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 การป้องกันภาวะ น้ำตาลในเลือดสูง ถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการจัดการโรคเบาหวาน อาจเริ่มต้นด้วยการสังเกตอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน รวมถึงตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในระดับปกติเสมอ สิ่งสำคัญคือต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากแพทย์เป็นผู้ที่สามารถแนะนำวิธีจัดการกับโรคเบาหวานได้ดีที่สุด