ข้อมูล T1D

ไอคอน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ

เกี่ยวกับเรา

คำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

เรียบเรียงโดย: 17.03.2025

Anne-Charlotte Ficheroulle

Pharmacist, Digital Innovation Manager, A4D

1. ทำไมจึงต้องออกกำลังกาย ?

การออกกำลังกายสำคัญสำหรับทุกคน เพราะทำให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงและช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เพราะจะช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นและยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้ตนเองได้ด้วย

การออกกำลังกายทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการเดิน การปั่นจักรยาน ไปจนถึงการเล่นฟุตบอลล้วนดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น โดยควรเริ่มจากการทำกิจกรรมให้ตนเองรู้สึกกระฉับกระเฉงทุกวันก่อน เช่น ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน จากนั้นเพิ่มเป็น 60 นาทีต่อวัน 5-6 วันต่อสัปดาห์

2. การออกกำลังกายส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดอย่างไร

การออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวร่างกายมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดในหลาย ๆ ด้าน

โดยส่วนมากจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
– กล้ามเนื้อจะใช้พลังงานจากน้ำตาลในเลือดมากขึ้น
– ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินไวขึ้น

หรือบางครั้งก็อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
– ผลกระทบจากฮอร์โมนอื่น ๆ ในร่างกาย (มักเกิดขึ้นชั่วคราวจากความเครียดหรือความตื่นเต้น)
– การเจ็บป่วย

3. คำแนะนำในการ ออกกำลังกาย สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1

ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดก่อนออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าควรรับประทานอาหารเท่าไหร่ก่อนที่จะเริ่ม ออกกำลังกาย
– เตรียมพร้อมรับมือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรพกพาอาหารและอุปกรณ์สำหรับแก้ปัญหาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำติดตัวมาด้วยเมื่อต้องการออกกำลังกาย เช่น น้ำผลไม้ ขนมปังกรอบ
– เเจ้งให้โค้ชหรือครูฝึกทราบว่าเป็นโรคเบาหวาน เพื่อเตรียมความพร้อมเผื่อในกรณีที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จะได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที
– ในการฉีดอินซูลิน ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายภายใน 2 ชั่วโมงหลังการฉีดอินซูลิน เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงมากเกินไป หากไม่มั่นใจเรื่องตารางการฉีดอินซูลินควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว
– อาหารที่ควรรับประทานก่อนออกกำลังกาย ควรสอบถามแพทย์หรือพยาบาลว่าควรรับประทานอาหารในปริมาณเท่าใดก่อนออกกำลังกาย ตัวเลือกอาหารที่เหมาะสม ได้แก่ ผลไม้ นมไขมันต่ำ โยเกิร์ต ขนมปังกรอบ หรือขนมปังหนึ่งแผ่น
– ในการออกกำลังกายเป็นระยะเวลานาน ร่างกายอาจต้องการคาร์โบไฮเดรดในปริมาณมากกว่าปกติ และอาจจำเป็นต้องมีการลดปริมาณอินซูลินที่ใช้ ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลประจำตัวก่อนออกกำลังกายเป็นเวลานาน

4. ดูแลรักษาสุขภาพของตัวคุณเอง

ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลรักษาสุขภาพ หากรู้สึกไม่สบายระหว่างการออกกำลังกายควรแจ้งให้ครูฝึกหรือโค้ชทราบ

ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องหยุดการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายกลางคันหากมีอาการผิดปกติ ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญกับการควบคุมโรคเบาหวานเป็นอันดับเเรก เช่น การรับประทานของว่างเมื่อมีอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือการตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือด

5. การออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อน

สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยเบาหวานควรให้ความสนใจคือ ปัญหาด้านภาะวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากโรคเบาหวาน เช่น โรคระบบประสาทหรือปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ การออกกำลังกายโดยไม่ได้คำนึงถึงภาวะเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาเพิ่มเติมได้ หรือในบางกรณีอาจนำไปสู่การบาดเจ็บสาหัสได้

ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทที่เท้าอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการวิ่ง และ ยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บหรือมีแผลที่เท้า ซึ่งอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนร้ายแรงหากไม่ได้รับการรักษาในทันที

ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์และขอคำแนะนำว่าสามารถออกกำลังกายประเภทใดได้บ้าง และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาชนิดใด เพื่อปรับรูปแบบการออกกำลังกายให้ปลอดภัยต่อร่างกายยิ่งขึ้น

ที่สำคัญ ควรจดบันทึกการออกกำลังกาย และผลของการออกกำลังกายว่าส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย หากคุณรู้สึกเหนื่อยล้าหรือเป็นลมหลังจากออกกำลังกาย อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนไปเลือกวิธีออกกำลังกายในรูปแบบที่ทำให้เหนื่อยน้อยลง นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่เป็นโรคระบบประสาท อย่าลืมตรวจร่างกายเพื่อหาบาดแผลหรือแผลที่อาจเกิดจากการออกกำลังกายด้วย

6. ข้อควรรู้

ออกกำลังกาย เป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรงและรักษาการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน การออกกำลังกายมีความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากช่วยให้สามารถจัดการภาวะแทรกซ้อนได้ดีขึ้น และยังสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย

สิ่งที่สำคัญคือ ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องออกกำลังกายที่ค่อนข้างหนัก เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อการออกกำลังกายในบางรูปแบบได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์แนะนำว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานควรพยายามออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อรักษาสุขภาพของตนเองและป้องกันปัญหาสุขภาพเพิ่มเติม

ทำแบบทดสอบเรื่องการออกกำลังกายกัน !

ไอคอน ข้อสงวนสิทธิ์: