
ข้อมูล T1D
ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ
เกี่ยวกับเรา
#LanguageMatters มีความหมายอย่างไรต่อ การ ดูแล โรค เบาหวาน ในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1
เรียบเรียงโดย: 17.03.2025
สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการดูแลสุขภาพคือการสื่อสารที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องดูแลภาวะสุขภาพเรื้อรังในระยะยาวอย่างโรคเบาหวานชนิดที่ 1 คุณหมอ พยาบาล และผู้ดูแลมีความสำคัญมากในชีวิตของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เพราะนอกเหนือจากการดูแลรักษาพยาบาลแล้ว ยังให้การสนับสนุนทางอารมณ์อีกด้วย หากผู้ดูแลและบุคลากรทางการแพทย์เข้าใจภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมากขึ้น ก็จะมีประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพทางอารมณ์ของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1
ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ หากเราเลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม คำพูดอาจส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาปฏิบัติตามแผนการรักษาและบรรลุผลตามที่ตั้งใจ
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นภาวะสุขภาพที่ท้าทายซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ และอาจจะเกินความสามารถของจิตใจมนุษย์ที่จะตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จะเป็นเรื่องที่ดีมากหากคุณหมอหรือผู้ดูแล ไม่ตำหนิหรือทำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 รู้สึกอับอายโดยเฉพาะเวลาที่เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ถ้าคุณหมอหรือผู้ดูแล ให้ความช่วยเหลือด้วยความเมตตา แสดงความรัก เห็นอกเห็นใจ เข้าใจ และไม่ตัดสิน จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 อย่างมาก
ตัวอย่างเช่น การพูดทำนองว่า "บางครั้งคนเราทำผิดพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร ลองมาดูสิว่าเราจะเลือกอาหารอะไรได้บ้าง" แทนที่จะพูดว่า "คุณควรรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพจะดีกว่า" คำพูดที่ดีก็เหมือนกับการให้กำลังใจผู้ที่เป็นเบาหวาน ถ้อยคำที่ทำให้คนเรารู้สึกแย่กับตัวเองจะทำให้ความภาคภูมิใจในตนเองลดลง ทำให้สุขภาพจิตแย่ลง และทำให้การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยนั้นยากขึ้น
เพื่อช่วยให้ผู้ที่เป็นเบาหวานรู้สึกดีขึ้นเกี่ยวกับคุณค่าในตนเอง วิธีที่ดีที่สุดคือใช้ถ้อยคำที่เน้นตัวบุคคลแยกออกจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อย่างเช่น "การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1" หรือ "บุคคลที่เป็นโรคเบาหวาน" คำบางคำสามารถทำให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 รู้สึกดีขึ้นและมีกำลังใจมากขึ้น แทนที่จะต้องรู้สึกแย่ เพราะพวกเขาคือผู้ที่สามารถมีชีวิตอยู่กับเบาหวานชนิดที่ 1 ได้
อีกวิธีหนึ่งในการให้กำลังใจผู้ที่เป็นโรคเบาหวานคือการเอาใจใส่ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งของบทสนทนาเพื่อให้กำลังใจ ผู้ที่ทำงานด้านการดูแลสุขภาพและดูแลผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 อาจต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่เป็นเบาหวานซึ่งพวกเขาต้องเผชิญทุกวัน
การที่คุณหมอประจำตัวเลือกใช้คำพูดดี ๆ ย่อมนำความเปลี่ยนแปลงมามากมายมาสู่ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เพราะจะทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีคนใส่ใจดูแล แทนที่คุณหมอจะพูดว่า "คุณต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด" อาจลองพูดว่า "หมอเข้าใจว่าการจัดการระดับน้ำตาลในเลือดเป็นเรื่องท้าทาย แต่หมอพร้อมช่วยคุณหาวิธีการจัดการให้มันดีขึ้นได้" การเปลี่ยนแปลงถ้อยคำเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้แสดงให้เห็นว่าคุณพร้อมช่วยเหลือ ชี้แนะ และเป็นกำลังใจให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งมีความท้าทายไม่น้อย
การดูแลโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มีสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำทุกวันมากมาย เช่น การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การให้อินซูลิน และการเลือกอาหารที่เหมาะสม คุณหมอและผู้ดูแลควรให้คำแนะนำที่ชัดเจนและให้กำลังใจ แทนที่จะแสดงความคิดเห็น และถามคำถามที่ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะสร้างความอับอาย
แทนที่จะพูดว่า "คุณจัดการปริมาณอินซูลินไม่ได้เรื่องเลย" สามารถให้กำลังใจด้วยการพูดว่า "ไหนมาดูสิว่าหมอจะช่วยคุณทำอะไรได้บ้างเพื่อปรับปริมาณอินซูลิน เผื่อระดับน้ำตาลในเลือดจะได้ดีขึ้น" วิธีการนี้กระตุ้นให้ผู้คนทำงานร่วมกัน และทำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 รู้สึกมีกำลังใจในการมีส่วนร่วมเพื่อดูแลตนเอง
เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 รู้สึกปลอดภัยที่จะตั้งคำถามและเปิดเผยถึงความกังวล จะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยผ่านการสื่อสารที่ให้กำลังใจ สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ดูแลและคุณหมออาจต้องใส่ใจเรื่องการสื่อสารสองทางอย่างจริงจัง
โปรดอย่าเดาว่าผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เข้าใจหรือรู้สึกอย่างไร ให้ถามพวกเขาแทนว่า "คุณมีคำถามอะไรเกี่ยวกับแผนการรักษาไหม" และ "คุณรู้สึกอย่างไรบ้างกับการดูแลโรคเบาหวานในช่วงที่ผ่านมา" แนวทางนี้สร้างความรู้สึกของการทำงานเป็นทีมและทำให้ได้ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 กล้าส่งเสียงหรือแสดงความต้องการ
ขบวนการ #Languagematters ได้ทำการวิจัยมากมายในชุมชนผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสื่อสารในลักษณะเชิงบวกและให้กำลังใจมีความสำคัญเพียงใด
การจัดการกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นการเดินทางที่ยาวนานตลอดชีวิต และเต็มไปด้วยอุปสรรคและความสำเร็จในทุกวัน รากฐานที่ดีจะสร้างความแตกต่างได้อย่างมาก การสร้างความเชื่อมั่นนี้จะช่วยเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเองได้อย่างยั่งยืนและสนับสนุนให้พวกเขาทำสำเร็จ ผู้ดูแลและผู้ที่ทำงานร่วมกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ควรหาทางรับรู้และชื่นชมความสำเร็จของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
ตัวอย่างเช่น หากผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ก็ควรบอกให้เขารู้ว่า "น่าประทับใจมากเลยที่คุณทุ่มเทและมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ความพยายามของคุณได้ผลจริง ๆ ด้วย" การได้ยินคำพูดดี ๆ แบบนี้จะทำให้ตัวคุณเองรู้สึกดีขึ้นและเป็นอีกหนึ่งวิธีให้กำลังใจผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และพวกเขาอาจรู้สึกดีขึ้นที่จะดูแลตัวเองและคนรอบข้างด้วย ใครจะรู้ว่า บางทีการกระทำและคำพูดดี ๆ อาจช่วยให้พวกเขา #ส่งต่อ สิ่งดี ๆ ให้ผู้อื่นต่อไปก็ได้
การสนทนาเพื่อให้กำลังใจโดยใช้ภาษาที่เหมาะสมเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากในการสื่อสารกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1
คำพูดที่แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ ไม่ตัดสิน การแนะนำที่ชัดเจน การสื่อสารแบบเปิดใจ คำพูดเชิงบวก และการชื่นชม สามารถยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ การเลือกคำพูดอย่างชาญฉลาดและให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง อาจช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เผชิญกับภาวะสุขภาพเรื้อรังนี้ได้ด้วยความมั่นใจและมีพลังใจ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้
คำพูดมีความสำคัญต่อผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน การจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ดี เราต้องช่วยกันคิดและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน