ข้อมูล T1D

ไอคอน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ

เกี่ยวกับเรา

การตรวจเบาหวาน ชนิดที่ 1 เพื่อคัดกรองภาวะแทรกซ้อน

เรียบเรียงโดย: 17.03.2025

Anne-Charlotte Ficheroulle

Pharmacist, Digital Innovation Manager, A4D

1. การตรวจคัดกรองภาวะเเทรกซ้อนเบาหวานชนิดที่ 1 สำคัญอย่างไร ?

การตรวจเบาหวาน เพื่อคัดกรองหาปัจจัยเสี่ยงเเละภาวะเเทรกซ้อนจะเริ่มตั้งเเต่การวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 การตรวจคัดกรองโรคนี้มีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยให้ตรวจพบภาวะแทรกซ้อนได้ตั้งเเต่ระยะแรก ทำให้สามารถหาวิธีจัดการโรคต่างๆ ได้

ทั้งนี้ ควรศึกษาเพิ่มเติมหรือปรึกษาแพทย์ว่าควรตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนเบาหวานบ่อยเพียงใด และในการตรวจคัดกรองแต่ละครั้งคุณควรเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับผลตรวจ

2. การตรวจเบาหวาน เพื่อคัดกรองภาวะแทรกซ้อนทุก 3 เดือน

สิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจเช็กเป็นประจำ มีดังต่อไปนี้

  • น้ำหนักเเละส่วนสูง เพื่อติดตามว่าผู้ป่วยเบาหวานควบคุมน้ำหนักได้ตามเป้าหมายหรือไม่

  • การตรวจค่า HbA1c HbA1c คือค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ควรควบคุมให้ค่านี้น้อยกว่า 7.5%
    สถานพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถตรวจ HbA1c ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ควรหาโอกาสตรวจ HbA1c อย่างน้อยปีละครั้ง

3. การตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนเบาหวานทุกปี

แพทย์ประจำตัวมักจะนัดหมายให้คุณมาตรวจเบาหวาน เพื่อคัดกรองภาวะแทรกซ้อนเบาหวานที่พบได้บ่อย และจะแนะนำให้คุณมาตรวจบ่อยขึ้นหรือรับการรักษาหากพบความผิดปกติในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • การตรวจวัดความดันโลหิต เพื่อตรวจว่ามีความดันโลหิตสูงหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อหลอดเลือดเเละหัวใจได้

  • การตรวจคัดกรองตา เพื่อวัดระดับการมองเห็น และตรวจดูว่ามีโรคจอตา ต้อกระจก หรือต้อหินหรือไม่

  • การตรวจคัดกรองเท้า คือการตรวจเท้าอย่างละเอียดโดยการซักประวัติเเละการตรวจร่างกายเพื่อตรวจหาว่ามีแผลหรือความผิดปกติหรือไม่

  • การทำงานของไต ตรวจระดับแอลบูมินและครีแอทินินจากปัสสาวะเเละเลือดเพื่อประเมินการทำงานของไต

  • การตรวจไขมันในเลือด ตรวจระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพื่อดูว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่

4. การป้องกันภาวะแทรกซ้อนเบาหวานชนิดที่ 1

นอกเหนือจากการตรวจเบาหวานแล้ว สิ่งสำคัญคือการหาทางป้องกันเพื่อไม่ให้ภาวะแทรกซ้อนเบาหวานเกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรก

ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเบาหวาน

  • คำนึงถึงอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ อาหารมีบทบาทสำคัญอย่างยื่งในการควบคุมโรคเบาหวาน ดังนั้นการกินอาหารเพื่อสุขภาพและลดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นการใส่ใจในปริมาณอาหารที่รับประทานก็เป็นเรื่องจำเป็น การกินมากเกินไปอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น แต่หากกินน้อยเกินไปอาจทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงต่ำจนเกินไปได้ ดังนั้น การควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสมจึงมีความสำคัญมาก

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงและเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ การออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวันจะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีสุขภาพแข็งแรง และยังช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนเบาหวาน เช่น ความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ถ้าจะให้ดีควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ

  • สังเกตและหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การติดตามระดับน้ำตาลในเลือดอาจช่วยให้ทราบว่าคุณจัดการกับโรคเบาหวานได้ดีแล้วหรือไม่ โดยทั่วไปแพทย์จะให้คำแนะนำว่าเวลาใดเหมาะสมที่สุดในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อย่าลืมจดตัวเลขและผลลัพธ์ต่าง ๆ เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ และยังเป็นวิธีติดตามความคืบหน้าของการรักษาโรคเบาหวานอีกด้วย

  • เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงสูงที่จะมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว อีกทั้ง การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ และปัญหาหัวใจและหลอดเลือด หากดื่มและ/หรือสูบบุหรี่ ควรเลิกโดยเร็วที่สุด

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องอาหารที่ควรรับประทาน ยาที่ต้องใช้ ปริมาณอินซูลินที่ควรได้รับ และคำแนะนำอื่นๆ เพื่อที่จะจัดการกับโรคเบาหวานและรักษาคุณภาพชีวิตให้ดีและมีความสุข

5. ข้อควรรู้

หากไม่จัดการกับภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อย่างเหมาะสมและทันท่วงที อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจเบาหวาน เพื่อคัดกรองดูว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนเบาหวานหรือไม่ นอกจากนั้น ผู้ป่วยเบาหวานยังต้องหาวิธีจัดการโรคเบาหวานให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเบาหวานไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น

ทำแบบทดสอบเรื่องการตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนกัน !

ไอคอน ข้อสงวนสิทธิ์: