ข้อมูล T1D

ไอคอน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ

เกี่ยวกับเรา

ทำความรู้จัก เท้าบวมเบาหวาน ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1

เรียบเรียงโดย: 17.03.2025

Anne-Charlotte Ficheroulle

Pharmacist, Digital Innovation Manager, A4D

1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เท้าได้อย่างไร ?

เท้าบวมเบาหวาน เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับเท้าที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงนั้นสร้างความเสียหายต่ออวัยวะต่างๆภาย ในร่างกาย ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาเบาหวานลงเท้า ซึ่งจะมีทั้งอาการเท้าบวม เป็นเหน็บชา และอาการแสบร้อนที่เท้า

หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา เบาหวานลงเท้าอาจทำให้เป็นแผลที่เท้าซึ่งจะหายยาก อีกทั้งผู้ป่วยเบาหวานอาจไม่รู้ตัวว่ามีแผลเหล่านี้ จนนำไปสู่การเป็นแผลอักเสบและแผลติดเชื้อ จนถึงขั้นต้องตัดขาทิ้งในที่สุด

2. การตรวจดูอาการของเบาหวานลงเท้า

ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจดูเท้าของตนเองทุกวันและแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการหรือความผิดปกติดังต่อไปนี้

– รู้สึกเหน็บชาคล้ายเข็มทิ่ม
– ปวดแสบปวดร้อน
– ปวดตื้อ ๆ
– ผิวหนังบริเวณเท้าเรียบเป็นมันวาว
– ขนบริเวณขาและเท้าร่วง
– สูญเสียความรู้สึกที่ขาและเท้า
– เท้าบวม
– เหงื่อไม่ออกบริเวณเท้า
– แผลหายช้า
– ปวดน่องทั้งเวลาเดินและเมื่อนั่งพัก

หากพบว่าเท้ามีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ให้รีบติดต่อแพทย์ในทันที โดยเฉพาะอาการดังนี้
– รูปร่างและสีของเท้าเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
– รู้สึกร้อนหรือหนาวบริเวณเท้า
– มีแผลหรือรอยพุพองที่เท้า แต่ไม่รู้สีกเจ็บ
– มีแผลเปิด และมีกลิ่นเหม็น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจเท้าอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจดูว่าเส้นประสาทบริเวณเท้าเสียหายหรือไม่

การตรวจเท้าคือการตรวจดูเท้าและขาของผู้ป่วยเบาหวานว่ามีอาการชาหรือไม่ การไหลเวียนของเลือดเป็นอย่างไร มีตาปลา มีหนังหนาด้าน มีปัญหาเล็บเท้า อาการเท้าบวม และอาการอื่นๆ หรือไม่ เพื่อที่จะตรวจดูว่าคุณความเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานลงเท้าหรือไม่

3. คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงเท้าบวม เบาหวาน

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้

  • สวมใส่รองเท้าขนาดพอดี ไม่คับเกินไป หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้ารัดรูปหรือรองเท้าส้นสูง

  • ดูแลให้เท้าแห้งและสะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

  • ตัดเล็บเท้าให้สั้น

  • ไม่เดินเท้าเปล่านอกบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลหรือการถลอก

  • พยายามออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที

4. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และการนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย

หากผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่ดูแลตนเองและไม่ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน นั่นอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่เรียกว่าเนื้อตายเน่าได้ ซึ่งจัดว่าเป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากร่างกายขาดเลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อ และส่งผลให้เนื้อเยื่อตายในที่สุด

การรักษาโรคเนื้อตายเน่าเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ส่วนใหญ่แล้วมักรักษาด้วยการตัดชิ้นเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อหรือตายแล้วออก การจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อ และในบางราย อาจมีการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหลอดเลือดที่เสียหาย

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที อาจส่งผลให้จำเป็นต้องตัดอวัยวะบางส่วนของร่างกายที่ได้รับผลกระทบ หรือในกรณีที่ร้ายแรงกว่านั้น อาจเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงได้

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการรุนแรงและเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะติดเชื้ออาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด การจัดการโรคเบาหวานอย่างถูกต้องและเหมาะสมมักช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลตนเอง

อาการที่ควรระวังมีดังนี้

  • ไข้ไม่ลด

  • ปัญหาผิวหนังไม่หายไป

  • มีของเหลวไหลออกจากแผลหรือรอยแผล

  • รู้สึกเย็น แข็ง และ/หรือชาบริเวณผิวหนัง

  • รู้สึกปวดบริเวณที่มีแผลบาดเจ็บหรือการผ่าตัด

หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปหาแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อตรวจวินิจฉัย

5. ข้อควรรู้

คนส่วนใหญ่มักเชื่อมโยงโรคเกี่ยวกับหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง ว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า เท้าบวม หรือภาวะแทรกซ้อนที่เท้า ก็อาจกลายเป็นปัญหาร้ายแรงได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีการควบคุมหรือจัดการกับโรคเบาหวานอย่างถูกต้องและเหมาะสม

ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรดูแลตนเองให้ดี รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายทุกวัน และปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์เพื่อควบคุมอาการของโรคเบาหวานประเภท 1

นอกจากนี้ยังควรคอยสังเกตอาการของเบาหวานลงเท้า เพื่อที่จะให้สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่อาการจะแย่ลง

ทำแบบทดสอบเรื่องภาวะแทรกซ้อนที่เท้ากัน !

ไอคอน ข้อสงวนสิทธิ์: