
ข้อมูล T1D
ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ
เกี่ยวกับเรา
วิธีจัดการชีวิต และความรู้สึก สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1
เรียบเรียงโดย: 17.03.2025
เมื่อได้รับการตรวจพบว่า เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายเเละจิตใจ โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว คุณอาจกังวลเกี่ยวกับการจัดการชีวิตในแต่ละวัน เเละผลกระทบต่างๆ ของโรคที่มีต่ออนาคต เนื่องจากชีวิตในวัยหนุ่มสาวหรือวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนที่จะดูแลตนเอง เเละวางเเผนสำหรับวันข้างหน้า เช่น การเรียนในมหาวิทยาลัย การทำงาน การสร้างครอบครัว
ความรู้สึกเศร้า โกรธ หรือหงุดหงิด ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะคุณอาจรู้สึกว่าทำไมคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกันถึงไม่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพเช่นนี้ เเต่เชื่อได้เลยว่าหากคุณดูแลตนเองและควบคุมอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ดี คุณก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตปกติไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน
การพบว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกเศร้า บางครั้งคุณอาจแกล้งทำเป็นเหมือนว่าอาการดีขึ้นหรือหายแล้ว เเต่คุณต้องเข้าใจว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการเปิดใจยอมรับความจริง เเละอยู่ร่วมกับโรคนี้ให้เหมือนกับว่าเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ไม่ใช่ศัตรู เพราะความเศร้าเเละความโกรธไม่สามารถช่วยให้อะไรดีขึ้นได้ในระยะยาว ดังนั้น การพยายามไม่นึกถึงหรือไม่พูด ว่าตนเอง เป็นเบาหวาน มีเเต่จะทำให้ทุกอย่างเเย่ลง
ดังนั้น อย่าทำตัวไม่ดีกับเพื่อนคนนี้ พยายามใส่ใจเเละสนใจเพื่อนที่ชื่อ เบาหวาน และหาใครสักคนที่คุณรู้สึกใกล้ชิดเพื่อพูดคุยในแต่ละวัน วิธีนี้จะทำให้คุณเรียนรู้เกี่ยวกับภาวะของโรค เเละการปฏิบัติตัวเพื่อที่จะสามารถควบคุมโรคได้ดีที่สุด
เเม้ว่าช่วงเวลานี้คุณอาจจะอยากแสดงออกถึงความมีอิสระในการใช้ชีวิต เเต่อย่าลืมว่า พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดของคุณนั้นย่อมรักเเละเป็นห่วงคุณเสมอ คุณสามารถระบายความรู้สึกอัดอั้นให้ท่านรับฟังได้ เพราะชีวิตอิสระกับกำลังใจและความห่วงใยจากคนที่รักคุณก็เป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้
อีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในเส้นทางของการ เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 1 คือ การยอมรับความจริงโดยการเรียนรู้ที่จะปรับตัว อาจลองที่จะหยุดต่อสู้กับโรค และเปลี่ยนมาเรียนรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้แทน เช่นนี้ สุขภาพจิตของคุณจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
คุณไม่ได้โดดเดี่ยว ดังนั้นควรลองติดต่อคนรอบข้าง ขอความช่วยเหลือ กำลังใจ เเละข้อมูลต่าง ๆ เพราะโรคนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับตัวคุณเอง
โรคเบาหวานสามารถควบคุมได้ถ้ามีความตั้งใจจริง อุปสรรคอย่างเดียวก็คือตัวคุณเองเท่านั้น คุณอาจไม่รู้ เเต่จริง ๆ แล้วตัวคุณนั้นเเข็งเเกร่งกว่าที่คิด สามารถทำอะไรก็ได้ แต่ต้องเปิดใจก่อนเป็นอันดับแรก เพราะจิตใจนำร่างกายเสมอ ไม่ใช่ร่างกายนำจิตใจ
นับเป็นเรื่องปกติหากคุณจะมีความรู้สึกที่หลากหลายเกี่ยวกับการเป็นเบาหวาน สิ่งสำคัญคือต้องทำความคุ้นเคยกับการดูเเลโรคเบาหวาน เเละทำให้โรคนี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน อาจต้องเพิ่มกิจวัตรประจำวันบางอย่าง เหมือนกับที่ต้องแปรงฟันทุกวัน และคุณก็จะสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป หากยิ่งคุ้นเคยกับกิจวัตรประจำวันที่เพิ่มมาเหล่านี้มากเท่าไหร่ คุณก็อาจจะยิ่งรู้สึกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นภาระน้อยลงเท่านั้น ที่สำคัญ ย่อมลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเเทรกซ้อนอีกด้วย
เมื่ออายุเพิ่มขึ้น คุณอาจเริ่มนึกถึงชีวิตที่เป็นอิสระจากครอบครัวมากขึ้น แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการดูแลโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชีวิตของคุณเอง ลองคิดให้รอบคอบ แล้วค่อย ๆ จัดการความท้าทายต่าง ๆ ให้สำเร็จทีละอย่าง ไม่ต้องรีบ เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือกิจวัตรประจำวันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
หากสามารถปรับกิจวัตรประจำวันให้เข้ากับเงื่อนไขของสุขภาพที่เกิดขึ้น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตและสามารถรับผิดชอบตัวเองได้แล้วพอสมควร
การใช้ชีวิตเมื่อเป็นเบาหวาน ชนิดที่ 1 ในแต่ละวันไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งอาจรู้สึกเศร้าเมื่อต้องเผชิญกับภาวะเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ปกติมาก
– ภาวะซึมเศร้า
หากความรู้สึกเศร้าไม่หายไป อาจเสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้า การมีภาวะซึมเศร้าร่วมกับการ เป็นเบาหวานนั้นเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยมากกว่าที่คุณคิด ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไปถึงสองเท่า
ภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกสิ้นหวัง และเมื่อรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะคิดบวก คุณอาจมีความต้องการที่จะแยกตัวจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่าลืมว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียว ที่สำคัญคือคุณต้องหมั่นสังเกตสัญญาณของภาวะซึมเศร้าและระบายให้ครอบครัวและแพทย์ประจำตัวรับฟัง
– ความกังวลเกี่ยวกับโรคเบาหวาน
บางครั้งคุณอาจรู้สึกคับข้องใจ รู้สึกผิด หรือกังวลเกี่ยวกับกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หากความรู้สึกเหล่านี้ไม่หายไป หรือเริ่มที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน การได้พูดคุยกับใครสักคนถือว่าสำคัญมาก ทุกคนเข้าใจดีว่าคุณรู้สึกอย่างไร อย่าลืมว่า คุณไม่ได้โดดเดี่ยว
– อารมณ์เเละอาหาร
การเป็นโรคเบาหวานทำให้ต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น เเต่บางครั้งก็อาจทำให้เครียดได้ บางคนรู้สึกว่ายิ่งเครียดก็จะยิ่งรับประทานอาหารเยอะ แต่บางคนเมื่อรู้สึกเเย่อาจรับประทานอาหารได้น้อยลง การรับประทานอาหารที่แตกต่างกันไปก็ส่งผลต่ออารมณ์ได้เช่นเดียวกัน
บางครั้งคุณอาจใส่ใจในเรื่องของน้ำหนักและภาพลักษณ์มากจนทำให้รู้สึกไม่ดีกับอาหารตรงหน้า ซึ่งเรียกว่า พฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ นับเป็นปัญหารุนแรงที่พบได้ในผู้ที่เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 1 หากมีปัญหานี้ ควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์
การ เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 1 คือการเตรียมตัวสำหรับชีวิตที่จะมีทั้งขาขึ้นและขาลง แม้ว่าคุณจะปรับตัวได้แล้ว อุปสรรคต่างๆ ก็อาจยังคงเกิดขึ้นมา เช่น บางครั้งระดับน้ำตาลในเลือดอาจจะสูงหรือต่ำเกินไป เเม้ว่าจะปฏิบัติตามคำเเนะนำของเเพทย์เเล้วก็ตาม
พยายามอดทนเเละมองหาสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วย โดยการมีความมั่นใจ กล้าหาญ เเละภูมิใจกับสิ่งที่กำลังเรียนรู้
การมีความรู้สึกเชิงบวกถือเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการปรับตัว ในขณะที่กำลังปรับตัว คุณอาจพบว่าตัวเองมีความมั่นใจ ความมุ่งมั่น ความหวัง ความปรอดโปร่งโล่งใจ การได้รับกำลังใจ ความแข็งแกร่ง และความสุข อีกด้วย
ในไม่ช้า คุณจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรับรู้และจัดการอารมณ์ และการดูแลสุขภาพของตัวเอง การเป็นเบาหวานอาจช่วยสอนให้คุณรู้จักการรับมือและปรับตัวต่อความท้าทายต่าง ๆ ได้ดีกว่าคนอื่น ๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุด โปรดจำไว้ว่า ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1
ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในร่างกาย และเป็นช่วงเวลาที่การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่เกณฑ์ปลอดภัย จะมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะหากคุณต้องการที่จะป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
อย่ากลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพียงเเค่ยอมรับความจริง เเละควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือสิ่งที่ทุกคนจะสามารถทำได้ดีที่สุดในตอนนี้ อุปสรรคอย่างเดียวก็คือตัวคุณเอง